หลายท่านเคยสงสัยกันไหมว่านอกจากการวิเคราะห์กราฟทองคำที่ต้องมองหาสัญญาเพื่อวางแนวรับและแนวต้าน หรือติดตามปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำ อย่างอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นโยบายการเงินของประเทศ อุปสงค์-อุปทานของทองคำในตลาด และสถานการณ์ใหญ่ ๆ ที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลก ยังจะมีปัจจัยอื่นอีกไหมที่จะส่งผลให้ราคาทองคำนั่นพุ่งทะยานหรือปรับตัวลดลงจนน่าใจหาย
วันนี้เราเลยอยากพาท่านไปรู้จักกับผู้เล่นเจ้าใหญ่ในตลาดทองคำอย่างกองทุนทองคำ แต่จะว่าไปกองทุนทองคำก็มีมากมายหลายเจ้าเพียงแค่ในประเทศไทยเองก็มีเกือบ 50 กองทุน แล้วจะกลายเป็นผู้เล่นใหญ่ที่มีผลต่อทิศทางราคาทองคำได้อย่างไร เราเลยจะพาท่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของกองทุนทองคำโลกนั่นก็คือกองทุน SPDR Gold Trust นั่นเอง
“กองทุน SPDR” คือกองทุนทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือบางท่านอาจจะรู้จักกันในชื่อ “SPDR Gold Trust” โดยกองทุนนี้เป็นกองทุนในกลุ่ม SPDR (Standard & Poor’s Depositary Receipt) ประเภท ETF (Exchange Trades Fund) ซึ่งมีผู้จัดการกองทุนคือ World Gold Trust Services, LLC และผ่านตัวแทนขายโดย State Street Global Advisors กองทุน SPDR นี้ ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถึง 4 แห่ง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก, ตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น, ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
ความน่าสนใจของกองทุน SPDR นี้ คือการที่กองทุนไม่ได้ถือทองคำด้วยตราสารอนุพันธ์ แต่ได้นำเม็ดเงินเข้าไปถือทองคำแท่งจริง ๆ (100% Gold Bullion) โดยทองคำแท่งทั้งหมดได้ถูกเก็บรักษาที่ HSBC Bank ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้ผลตอบแทนสุทธิหลังจากหักค่าบริหารจัดการกองทุนและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จึงค่อนข้างใกล้เคียงกับราคาทองคำแท่งในตลาดลอนดอน LBMA Gold Price PM ต่างจากกองทุนทองคำตัวอื่น ๆ ที่ใช้ตราสารอนุพันธ์ในการถือครองทองคำ
นอกจากนักลงทุนรายย่อยที่เข้าถือกองทุน SPDR นี้ ยังมีกองทุนรวม FIF (Foreign Investment Fund) ที่ได้เข้ามาลงทุนอีกหลากกองทุน หรือแม้แต่กองทุนทองคำของไทยเองก็ได้เข้านำเงินลงทุนเข้าไปถือกองทุน SPDR นี้อีกด้วย ดังนั้นการที่กองทุน SPDR มีความเคลื่อนไหวเข้าซื้อหรือขายทองคำจึงกระทบต่อปริมาณทองคำที่มีอยู่ในตลาดโดยตรง กองทุน SPDR จึงถือเป็นปัจจัยที่น่าสนใจที่สามารถสะท้อนความเป็นไปของตลาดทองคำได้เป็นอย่างดี
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ราคาทองคำนั้นพุ่งขึ้นไปแตะถึงบาทละ 30,000 บาท เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ทำให้นักลงทุนหลายท่านเลือกที่ปรับพอร์ทการลงทุนไปถือสินทรัพย์อย่างทองคำกันมากยิ่งขึ้น ในอีกด้านหนึ่งหากใครได้ติดตามข่าวเศรษฐกิจและการเงินทางฝั่งสหรัฐอเมริกาจะพบว่าเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ดัชนีดาวโจนส์ได้ร่วงหนัก จากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มขยายวงกว้างไปยังทั่วมุมโลก
ด้วยเหตุการณ์ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจดังกล่าว รวมกับทาง WHO มีความกังกลว่าสหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดใหม่ของไวรัสโควิด-19 จากตัวเลขของผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กองทุน SPDR เข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง เพียงช่วงเดือนสิงหาคม 2563 กองทุน SPDR ได้เข้าซื้อทองคำกว่า 355 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มากที่สุดตั้งแต่ได้เริ่มจัดตั้งกองทุน
เมื่อได้นำราคาเสนอขายกองทุน SPDR Gold Trust มาวิเคราะห์หาค่า Correlation Coefficient หรือค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ที่แสดงทิศทางความสัมพันธ์เชิงเส้นของตัวแปรกับราคา Gold Spot พบว่ามีค่า Correlation Coefficient อยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 แสดงถึงทิศทางความสัมพันธ์ไปในเชิงบวกเดียวกันกับราคา Gold Spot
แม้ว่าความเคลื่อนไหวของกองทุน SPDR จะช่วยสะท้อนทิศทางราคาทองคำและย่นระยะเวลาของท่านที่ต้องคอยติดตามข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายปัจจัยที่สามารถส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ ความเคลื่อนไหวของกองทุน SPDR จึงเหมือนเป็นเพียงตัวช่วยแนะนำสำหรับท่านที่ไม่ได้เน้นกลยุทธ์การซื้อขายเก็งกำไรเสียมากกว่า
เพียงแค่ 3 ขั้นตอนง่ายๆ คุณก็ได้เป็นเจ้าของทองคำและแอปที่ใช้งานง่ายสุดๆ