การจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำไมราคาทองคำลดลง? ตัวแปรสำคัญในเศรษฐกิจที่นักลงทุนทองคำควรรู้!

แม้คุณอาจจะทราบดีว่าสถานการณ์เศรษฐกิจส่งผลต่อราคาทองคำ ยิ่งความไม่แน่นอนจากโควิด-19 ที่ดันราคาทองสูงขึ้นที่สุดในรอบ 7 - 8 ปี ทำให้ใครหลายคนอยากจะถือครองไว้ในมือ แต่การจ้างงานเกี่ยวอะไรกับราคาทองคำ ทำไมการจ้างงานสูงขึ้นราคาทองคำถึงตก? เราจะพาคุณไปรู้จักความสัมพันธ์ของ ‘การจ้างงาน’ และ ‘ราคาทองคำ’ และตัวเลขด้านการจ้างงานมากขึ้น ไปติดตามกันต่อได้เลยในบทความนี้

หากคุณสนใจที่จะลงทุนในตลาดทองคำแล้ว การติดตามข่าวทางเศรษฐกิจถือเป็นเครื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย ที่จะทำให้คุณเข้าใจสถานการณ์ของทองคำในแต่ละช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อที่จะวางกลยุทธ์ไม่ว่าจะซื้อเก็งกำไร หรือถือระยะยาว ยิ่งหลายคนอาจจะตาลุกวาวเมื่อราคาทองคำพุ่งทะยานสวนทางกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากสถานการณ์โควิด-19 จนราคาทองคำทะลุไปบาทละ 30,000 บาท ทำให้หลายคนไปถือทองคำ ทั้งทองคำแท่งและทองคำรูปพรรณกันมากขึ้น จนอาจจะลืมมองไปว่า แล้วควรถือไว้เท่าไหร่กว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวจนดันราคาทองคำกลับลงไป ?


ดังนั้นการก้าวเข้ามาในตลาดทองคำโดยที่ไม่เข้าใจความเป็นไปของตลาด ไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อทองคำ เป็นเรื่องที่อันตรายมาก แล้วควรทำอย่างไรให้การลงทุนในทองคำของคุณนั้นมีความมั่นใจและสร้างผลกำไรจากการลงทุนทองคำได้มากที่สุด วันนี้เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวแปรอย่าง ‘การจ้างงาน’ ว่าทำไมถึงมีทิศทางที่ตรงกันข้ามกับราคาทองคำ แต่หลายคนมักจะลืมไป


การจ้างงานเกี่ยวข้องอย่างไรกับราคาทองคำ ? ปัจจัยทางเศรษฐกิจตัวสำคัญที่หลายคนมองข้าม


เคยสงสัยไหมว่าตัวเลขการจ้างงานนั้นหมายความว่าอย่างไร? คุณอาจจะพอคุ้นหูกับ ‘อัตราการจ้างงาน’ และ ‘อัตราการว่างงาน’ มากกว่าเพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงความเติบโตและความถดถอยของเศรษฐกิจ จนไม่ได้มองย้อนกลับไปยังตัวเลขตั้งต้นก่อนที่จะถูกคำนวณออกมาเสียเท่าไหร่นัก แล้ว “การจ้างงาน” ที่ว่าคืออะไร?


“การจ้างงาน” คือจำนวนประชากรของประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (Labor) (*ขึ้นอยู่กับกฎหมายแรงงานของแต่ละประเทศ) โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่อยู่ในกำลังแรงงานพร้อมที่จะทำงาน  และกลุ่มที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน เช่น แม่บ้าน นักเรียน นักบวช ผู้เกษียณอายุ คนชรา และผู้พิการที่ไม่สามารถทำงานได้  ซึ่งในกลุ่มกำลังแรงงาน (Labor Force) จะถูกนำไปคิดในสัดส่วนของผู้ที่ถูกจ้างงานและผู้ที่ว่างงาน


จนออกมาเป็น ‘อัตราการจ้างงาน’ และ ‘อัตราการว่างงาน’ ที่คุณคุ้นเคย ที่แสดงความเติบโตและเสถียรภาพของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ และแน่นอนว่าราคาทองคำมักสวนทางกับความมั่นคงและการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างตัวเลข GDP Growth นอกจากนี้การจ้างงานยังเป็นตัวแปรในดัชนีสำคัญอย่างดัชนี PMI ที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตา


ดัชนี PMI (Purchasing Manager Index) คือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ โดยดัชนี PMI จะสะท้อนทิศทางและแนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งแสดงถึงสภาพธุรกิจภายในประเทศนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งในการคำนวณหาค่าดัชนี PMI จะนำ 5 ตัวแปรเทางเศรษฐกิจอย่าง คำสั่งซื้อใหม่(New Orders), ระดับสินค้าคงคลัง(Inventory Levels), ผลผลิต(Productions), การจัดส่งสินค้าของซัพพลายเออร์(Supplier Deliveries) และ การจ้างงาน(Employment) มาคำนวณถ่วงน้ำหนัก ซึ่งหากค่าดัชนี PMI นี้มีค่ามากกว่า 50 มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสะท้อนโน้มแนวการเติบโตของเศรษฐกิจ


เหตุผลทางเศรษฐกิจที่ทำให้การจ้างงานสวนทิศทางกับราคาทองคำ


unemployment-rate-and-gold-prices
ภาพจาก sunshineprofits


จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าการจ้างงานเป็นตัวเลขที่สะท้อนมิติของเศรษฐกิจว่ามีแนวโน้มที่จะเติบโต ขยายตัวได้สูงขึ้นมากน้อยเพียงใด การจ้างงานยังสะท้อนความเป็นอยู่ของพลเมืองประเทศนั้น ๆ การจ้างงานที่สูงขึ้น ทำให้คนมีรายรับที่มากขึ้น มีกำลังทรัพย์ที่จะจับจ่ายใช้สอย ทำให้ภาคเอกชนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด


ตัวเลขการเติบโตของธุรกิจสูงขึ้นดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาทั้งการลงทุนทางตรงและลงทุนทางอ้อมผ่านตลาดหุ้น ทำให้สินทรัพย์อื่นในเศรษฐกิจมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าทองมีความเสี่ยงที่ลดลง ส่งผลให้อุปสงค์ทองคำต่ำลง จากการที่นักลงทุนย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นที่คุ้มค่ากว่าการถือครองทองคำ


4 ตัวเลขด้านการจ้างงานของสหรัฐที่นักลงทุนทองคำควรติดตาม

การจ้างงานยังเกี่ยวข้องกับอีกหลายดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ (Economic Leading Indicator) วันนี้เราเลยอยากจะพาคุณไปรู้จักกับ 4 ตัวเลขที่น่าสนใจของสหรัฐ เพื่อประเมินสถานการณ์ทองคำแต่ละช่วงได้ชัดเจนและเข้าใจข่าวสารด้านทองคำมากยิ่งขึ้นในการปรับกลยุทธ์การลงทุน

1. Non-Farm Employment Change

‘Non-Farm Employment Change’ คือการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่ประกาศโดยภาครัฐ หรืออาจจะรู้จักกันในชื่อ Nonfarm Payrolls ซึ่งแสดงถึงจำนวนการจ้างงานในอุตสาหกรรมนอกภาคการเกษตร รวมถึงค่าแรงที่แรงงานแต่ละภาคอุตสาหกรรมได้รับ ซึ่งหากตัวเลขนี้สูงขึ้น ก็ยิ่งสะท้อนเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ โดยตัวเลขนี้จะมีประกาศออกมาในทุก ๆ วันศุกร์แรกของเดือน ซึ่งจัดทำโดย U.S. Bureau of Labor Statistics

2. ADP Non-Farm Employment Change

‘ADP Non-Farm Employment Change’ คือการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่จัดทำโดย Automatic Data-Processing ซึ่งตัวเลขนี้การจัดเก็บจะแบ่งตามขนาดของธุรกิจนอกภาคการเกษตร ประกอบไปด้วย ธุรกิจขนาดเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน, ธุรกิจขนาดกลางที่มีพนักงาน 50 - 499 คน และธุรกิจขนาดใหญ่มี่มีพนักงานมากกว่า 500 คนขึ้นไป ซึ่งหากธุรกิจมีการจ้างงานที่สูงขึ้นก็สะท้อนการขยายตัว รวมถึงการกระจายรายได้ไปสู่ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยตัวเลขนี้จะมีประกาศออกมาทุก ๆ วันพุธแรกของเดือน

3. Unemployment Claims

‘Unemployment Claims’ คือจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนค่าใช้จ่ายของรัฐได้ชัดกว่าอัตราการว่างงาน เพราะยิ่งตัวเลขนี้สูงขึ้นนั่นหมายความว่าค่าใช้จ่ายของภาครัฐ (Government Expenditure) ถูกใช้ไปในการช่วยเหลือกลุ่มคนว่างงานมากขึ้น เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะหดตัว และยังแสดงให้เห็นถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำในประเทศอีกด้วย โดยตัวเลขนี้จะมีประกาศทุก ๆ วันพฤหัส

4. Unemployment Rate

‘Umemployment Rate’ คืออัตราการว่างงานที่หลายคนคุ้นเคยกันดี เป็นตัวเลขที่กระทบในวงกว้างทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ จากการที่ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยลดลง ส่งผลให้ภาคธุรกิจลดกำลังการผลิตลง ไม่ว่าจะเป็นลดจำนวนคำสั่งซื้อวัตถุดิบ ลดค่าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี หรือมากไปกว่านั้นคือลดการจ้างงานในธุรกิจ ซึ่งหากตัวเลขนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจที่หดตัว หรือในทางตรงกันข้ามหากตัวเลขนี้ลดลงก็จะเข้าสู่ภาวะการจ้างงานเต็มที่ ที่แสดงถึงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ โดยตัวเลขนี้จะมีประกาศออกมาทุก ๆ วันศุกร์แรกของเดือนเช่นเดียวกันกับตัวเลข Non-Farm Employment Change 


สรุปทั้งหมด

“การจ้างงาน” ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่นักลงทุนทองคำหรือผู้ที่สนใจจะก้าวเข้ามาในตลาดทองคำควรติดตาม เพราะถือเป็นตัวเลขที่กระทบต่อเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือนต่อกำลังซื้อ และความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภาครัฐที่คอยกำกับดูแลและสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ


แต่อย่างไรก็ตามในแง่ตัวแปรทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อราคาทองคำนั้นยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายการเงินจากธนาคารกลางที่มีประกาศมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไป หรือการประกาศความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ดังนั้นการที่คุณเข้าใจความสัมพันธ์ของตัวแปรเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้หลายมิติ จะช่วยให้คุณสามารถปรับพอร์ตการลงทุนรับมือกับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจได้รวดเร็ว นำไปสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน


เริ่มต้นเส้นทางความมั่งคั่งของคุณได้ที่ SBK Gold ซื้อขายทองคำแท่งออนไลน์ได้ง่ายเพียงไม่กี่คลิก

หากคุณพร้อมที่จะเข้าสู่โลกของการลงทุนทองคำแล้ว SBK Gold แอปพลิเคชันซื้อขายทองคำแท่งออนไลน์ที่จะช่วยให้การลงทุนของคุณนั้นง่ายขึ้น พร้อมปรับกลยุทธ์ตั้งรับหรือเชิงรุกได้ทันทุกจังหวะของเศรษฐกิจทุกเมื่อ ไม่พลาดกับทุกการแจ้งเตือนราคาทองคำที่ดีที่สุด ตอบโจทย์ทุกสไตล์การลงทุน อีกทั้งยังมีระบบเครดิต T+3 ช่วยให้การเข้าซื้อทองคำแท่งลื่นไหลมากยิ่งขึ้น


SBK Gold อุ่นใจได้ทุกการซื้อขาย ได้รับการรับรองจากสมาคมค้าทองคำ พร้อมทีมงานที่มีประสบการณ์ในวดวงทองคำมากกว่า 15 ปี ให้คำปรึกษาคุณได้ทักเมื่อ เริ่มต้นเส้นทางความมั่งคั่งของคุณได้เลย ที่นี่



Source : gdcatalog, statstd.nso, investopedia

เปิดบัญชีตอนนี้ ฟรี!

เพียงแค่ 3 ขั้นตอนง่ายๆ คุณก็ได้เป็นเจ้าของทองคำและแอปที่ใช้งานง่ายสุดๆ